วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ธาราบำบัด แห่งแรกของ อปท.


อาคารศูนย์ธาราบำบัดเพื่อสุขภาพ
เทศบาลเมืองบ้านบึง

          จากที่ได้กล่าวในบทความที่ผ่านมาเกี่ยวกับรูปแบบการให้บริการด้านธาราบำบัด ถึงข้อจำกัดการเข้าถึงในการรักษา วันนี้ผู้เขียนจึงขอนำเสนอรูปแบบการให้บริการด้านธาราบำบัด ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์การให้บริการด้านสุขภาพอีกรูปแบบหนึ่งครับ 


รูปภาพพิธีเปิดอาคารศูนย์ธาราบำบัด เทศบาลเมืองบ้านบึง

          งานศูนย์ธาราบำบัดเพื่อสุขภาพ เทศบาลเมืองบ้านบึง เปิดให้บริการครั้งแรกในวันที่ 5 มกราคม 2560 โดยในระยะแรกเน้นการให้บริการรูปแบบการส่งเสริม และป้องกันโรค ในระยะต่อมาเมื่อมีการเปิดกรอบรับสมัครนักกายภาพบำบัด ทำให้      รูปแบบการให้บริการขยายครอบคลุมการส่งเสริม ป้องกัน บำบัด และรักษา ฟื้นฟูสุขภาพ โดยในปัจจุบันให้บริการรองรับผู้ป่วยในกลุ่มต่างๆ ดังนี้

          1. ผู้ป่วยระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ เช่น ภาวะข้อเสื่อม ภาวะปวดกล้ามเนื้อและพังผืดเรื้อรัง ภาวะหลังผ่าตัดกระดูกในระยะคงที่ เป็นต้น 
          2. ผู้ป่วยระบบประสาท เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (ผ่านการคัดกรองจากบุคลากรทางการแพทย์) ผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บของสมองหรือไขสันหลังจากโรคหรืออุบัติเหตุ โรคพาร์กินสัน เป็นต้น
          3. ผู้ป่วยระบบทรวงอกและหัวใจ เช่น ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในระยะไม่รุนแรง โรคหอบหืด เป็นต้น
          4. โปรแกรมส่งเสริมสุขภาพ เป็นโปรแกรมการออกกำลังกายที่เน้นการส่งเสริม และป้องกันปัญหาสุขภาพ เช่น โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคเก๊าต์ เป็นต้น) ภาวะน้ำหนักเกิน และอื่นๆ ตามที่นักกายภาพบำบัดและผู้รับบริการตั้งเป้าหมายร่วมกัน เป็นต้น

          ส่วนรายละเอียดเอกสารการสมัคร เวลาทำการ และค่าธรรมเนียม มีรายละเอียดตามเอกสารการประชาสัมพันธ์ด้านล่างครับ และถ้าหากท่านใดมีความสนใจสามารถสแกน QR code หรือติดต่อผ่านทางโทรศัพท์ตามหมายเลขด้านล่าง เพื่อติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้เลยครับ

รูปภาพเอกสารประชาสัมพันธ์การให้บริการของศูนย์ธาราบำบัดเพื่อสุขภาพ

          ในส่วนของอาคารศูนย์ธาราบำบัดเพื่อสุขภาพ แบ่งออกเป็น 5 ส่วนหลัก ได้แก่ ห้องรับรองผู้ใช้บริการ ห้องน้ำ ห้องอาบน้ำ สระธาราบำบัด และห้องควบคุมระบบน้ำ 

          1. ห้องรับรองผู้ใช้บริการ ใช้สำหรับการติดต่อเกี่ยวกับการสมัคร การปรึกษาปัญหาสุขภาพโดยนักกายภาพบำบัด และใช้สำหรับนั่งพักก่อนและหลังการตรวจร่างกายเบื้องต้น



          2. ห้องน้ำ (แยกชาย หญิง) ใช้สำหรับเก็บของหรือสัมภาระที่จำเป็น (เก็บภายในล็อกเกอร์) และใช้เปลี่ยนเสื้อผ้าก่อน-หลังลงสระธาราบำบัด



          3. ห้องอาบน้ำ (แยกชาย หญิง) ใช้สำหรับชำระล้างร่างกายก่อนและหลังการใช้บริการสระธาราบำบัด โดยมีเก้าอี้ให้บริการสำหรับผู้ที่มีความจำเป็น



          4. สระธาราบำบัด ขนาดของสระความกว้าง 5 เมตร ความยาว 16 เมตร และมีความลึก 1.35-1.50 เมตร ภายในสระแบ่งออกเป็น 3 บริเวณ คือ 1.บริเวณสำหรับการผ่อนคลายร่างกายส่วนหลัง 2.บริเวณสำหรับการออกกำลังกายและการผ่อนคลายรยางค์ส่วนล่าง 3. บริเวณสำหรับการผ่อนคลายร่างกายส่วนศีรษะ คอ บ่า ไหล่ และสะบัก ซึ่งในผู้ใช้บริการแต่ละคนจะมีรูปแบบโปรแกรมการรักษา การออกกำลังกาย และการผ่อนคลายที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของโรค อาการแสดง เป้าหมายการรักษา และอื่นๆ ตามการประเมินของนักกายภาพบำบัด 

รูปภาพสระธาราบำบัดขณะให้บริการ

               4.1 บริเวณสำหรับการผ่อนคลายร่างกายส่วนหลัง ประกอบด้วย Spa bed และ Spa bench
 รูปภาพแสดง Spa bench

รูปภาพแสดง Spa bed

               4.2 บริเวณสำหรับการออกกำลังกายและการผ่อนคลายรยางค์ส่วนล่าง ประกอบด้วย เครื่องออกกำลังกายในน้ำ (Aqua gym) 9 เครื่อง และช่องวิถีธารน้ำ (Storm path) 

 รูปภาพแสดงเครื่องออกกำลังกายในน้ำ (Aqua gym)

รูปภาพแสดงช่องวิถีธารน้ำ (Storm path)

               4.3 บริเวณสำหรับการผ่อนคลายร่างกายส่วนศีรษะ คอ บ่า ไหล่ และสะบัก ประกอบด้วยเครื่องพ่นศีรษะ (Head jet) เครื่องพ่นไหล่แบบหัวแบน (Shoulder jet flat head)  และเครื่องพ่นไหล่แบบหัวจุด (Shoulder jet spot head)

รูปภาพแสดงหัวฉีดพ่นศีรษะและไหล่

          5. ห้องควบคุมระบบน้ำ เป็นห้องสำหรับควบคุมระบบกรองน้ำ การตั้งค่าอุณหภูมิของน้ำในสระ (โดยควบคุมอุณหภูมิของน้ำในสระอยู่ที่ 34 องศาเซลเซียส) ระบบแรงดันน้ำ และอื่นๆ

รูปภาพแสดงระบบแรงดันน้ำ

          รูปแบบการให้บริการของศูนย์ธาราบำบัดเพื่อสุขภาพ สามารถสรุปได้เป็นข้อๆ ดังนี้
1. ผู้ใช้บริการยื่นความประสงค์สมัครเข้ารับบริการต่อเจ้าหน้าที่ (นักกายภาพบำบัด) โดยกรอกใบสมัครพร้อมแนบเอกสารตามที่ระบุไว้ในเอกสารประชาสัมพันธ์
2. นักกายภาพบำบัดคัดกรอง ซักประวัติ และตรวจร่างกาย เพื่อเป็นข้อมูลบันทึกในระเบียนประวัติของผู้ใช้บริการในแต่ละราย 
3. เมื่อผู้ใช้บริการไม่มีลักษณะต้องห้ามในการใช้บริการสระธาราบำบัด นักกายภาพบำบัดจะจัดกลุ่มแก่ผู้ใช้บริการ เพื่อความเป็นระบบในการจัดรูปแบบการรักษา 
4. นักกายภาพบำบัดลงนัดวันให้การรักษา และแจ้งวัน เวลานัดหมายต่อผู้ใช้บริการ
5. ผู้ใช้บริการเข้ารับโปรแกรมการรักษาตามวันและเวลานัดหมาย ซึ่งโปรแกรมการรักษาในผู้ใช้บริการแต่ละคนอาจมีความแตกต่างกันตามการประเมินจากนักกายภาพบำบัด โดยการออกแบบโปรแกรมการออกกำลังกาย มีปัจจัยหลายอย่าง อาทิ อายุ เพศ สภาพร่างกาย ประวัติการบาดเจ็บในอดีต ระยะของโรค อาการแสดง ประวัติการออกกำลังกาย และอื่นๆ
ุ6. นักกายภาพบำบัดลงวันและเวลานัดหมายแก่ผู้ใช้บริการในครั้งถัดไป 

          คุยกันท้ายบทความ
           วันนี้เป็นการนำเสนอให้ทุกท่านเห็นถึงภาพรวมของสถานที่ภายในศูนย์ธาราบำบัดเพื่อสุขภาพ แต่ยังมีรายละเอียดหลายส่วนที่ยังไม่ได้นำเสนอ ถ้าเกิดผู้อ่านท่านใดมีคำถามสามารถคอมเมนต์คำถามไว้ได้เลยครับ และในบทความหน้าจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการให้บริการผู้ป่วย และเทคนิคการรักษา รวมถึงบทบาทนักกายภาพบำบัดใน อปท. อย่าลืมติดตามอ่านกันนะครับ รับรองว่าต้องทำให้ผู้อ่านหลายๆ คนมองภาพได้ชัดเจนมากขึ้นครับ 
          สำหรับวันนี้ผมขอลาไปด้วยภาพบรรยากาศบางส่วนจากการจัดกิจกรรมออกกำลังกายในน้ำ ของศูนย์ธาราบำบัดเพื่อสุขภาพ (รูปภาพขออนุญาตจากผู้เข้าร่วมโครงการเรียบร้อยครับ) แล้วพบกันใหม่ สวัสดีครับ








วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ธาราบำบัด วิถีแห่งการฟื้นฟู


ธาราบำบัด วิถีแห่งการฟื้นฟู
(Hydrotherapy for Rehabilitation)

     การดูแลรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย นับเป็นวิธีการที่ดี เนื่องจากเป็นวิธีการที่ประหยัด ให้ผลครอบคลุมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ทั้งยังให้ผลการรักษาที่ยั่งยืนกับบุคคลทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายจากอุบัติเหตุหรือพยาธิสภาพต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีข้อจำกัดในการออกกำลังกายบนบกค่อนข้างมาก และอาจส่งผลต่อการฟื้นฟูของร่างกายได้อย่างไม่เต็มที่ ทำให้ปัจจุบันรูปแบบการรักษาด้วยน้ำ หรือธาราบำบัด เข้ามามีบทบาทต่อการส่งเสริม ป้องกัน บำบัดรักษา และการฟื้นฟูสภาพร่างกายอย่างแพร่หลาย

     ธาราบำบัด เป็นการอาศัยคุณสมบัติของน้ำที่เกี่ยวข้องกับแรงลอยตัว (Bouyancy force) แรงดันอุทกสถิตหรือแรงกดดันของน้ำ (Hydrostatic pressure) รวมถึงพลศาสตร์ของของไหล (Hydrodynamics) ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวถูกนำมาประยุกต์ใช้ในด้านการบำบัดรักษา เช่น การอาศัยแรงลอยตัวของน้ำเพื่อช่วยเพิ่มองศาการเคลื่อนไหวของรยางค์และลดการกระแทกต่อข้อต่อร่างกาย การใช้แรงดันอุทกสถิตในการลดบวมและกระตุ้นระบบไหลเวียนน้ำเหลือง หรือการอาศัยลักษณะการไหลแบบวกวน (Turbulent flow) เพื่อฝึกการทรงตัว เป็นต้น

     นอกจากนี้ในเรื่องอุณหภูมิของน้ำยังส่งผลต่อการรักษา โดยอุณหภูมิของน้ำที่แตกต่างกัน จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของร่างกาย ซึ่งอุณหภูมิที่มีความเหมาะสมต่อการรักษา อยู่ที่ประมาณ 29-36.6 องศาเซลเซียส (ส่วนใหญ่มักควบคุมอุณหภูมิอยู่ที่ 31-33 องศาเซลเซียส) และอุณหภูมิไม่ควรเกิน 37 องศาเซลเซียส

     ผลทางสรีรวิทยาที่เกิดขึ้นจากการออกกำลังกายในน้ำ มีดังนี้
1. เพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อมากขึ้น 
2. เพิ่มอัตราการเกิดเมตาบอลิซึมของกล้ามเนื้อมากขึ้น
3. เพิ่มอัตราการหายใจ
4. ลดความดันโลหิตของร่างกาย

     วิธีการทางธาราบำบัด มีดังนี้
1. การแช่น้ำ การฉีดพ่นน้ำและนวดด้วยน้ำ เช่น การแช่น้ำแร่ การแช่น้ำวน การแช่น้ำ
    อุ่น-ร้อน การแช่น้ำถังสแตนเลส การแช่น้ำกระตุ้นไฟฟ้า เป็นต้น
2. การฝึกออกกำลังกายในแต่ละข้อต่อ
3. เทคนิคเฉพาะในการบำบัดทางกายภาพบำบัด เช่น เทคนิค Halliwick เทคนิค     
    Bad Ragaz ring เป็นต้น
4. การออกกำลังกายแบบแอโรบิค 

     ผลที่ได้รับทางการรักษาด้วยธาราบำบัด มีดังนี้
1. ลดความเจ็บปวดหรือบรรเทาความเจ็บปวด และลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ 
2. ผ่อนคลายความเครียดทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ
3. เพิ่มหรือคงสภาพช่วงมุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย
4. ช่วยฝึกฝนการหดตัวของกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงหรืออัมพาต
5. เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เสริมสร้างกำลัง และความทนทาน
6. การฝึกในน้ำช่วยลดแรงกระทำต่อข้อต่อร่างกาย ทำให้ช่วยฝึกการก้าว การเดินใน
    น้ำได้ดีและง่ายขึ้น
7. เพิ่มการไหลเวียนของระบบเลือดและน้ำเหลือง
8. เสริมสร้างสภาพจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส
9. เสริมสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง ในด้านการเคลื่อนไหวหรือการทำกิจกรรมต่างๆ

     ในปัจจุบันการให้บริการด้านธาราบำบัด เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น แต่ในทางกลับกันสถานที่ที่รองรับการให้บริการยังมีจำนวนค่อนข้างน้อย และส่วนมากอยู่ในการดูแลของสถานพยาบาลขนาดใหญ่ หรือสถานพยาบาลเฉพาะทาง ทำให้ส่งผลต่อการเข้าถึงการรับบริการ ดังนั้นการลงทุนในระดับท้องถิ่นจึงอาจเป็นแนวคิดที่ตอบโจทย์การเข้าถึงบริการด้านธาราบำบัดมากขึ้น 

การให้บริการด้านธาราบำบัดของโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร เพื่อผู้สูงอายุ จังหวัดชลบุรี

     คุยกันท้ายบทความ
     หัวข้อนี้ผู้เขียนต้องการนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการรักษาด้วยธาราบำบัด ซึ่งอาจจะมีเนื้อหาที่ค่อนข้างเยอะ แต่อย่าเพิ่งเบื่อกันนะครับ 

     ส่วนหัวข้อถัดไปผู้เขียนจะขอนำเสนอรูปแบบการให้บริการด้านธาราบำบัดในระดับท้องถิ่นของศูนย์ธาราบำบัดเพื่อสุขภาพ กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองบ้านบึง อย่าลืมติดตามกันนะครับ ก่อนจากกันผู้เขียนขอแปะคลิปสถานที่ภายในของศูนย์ธาราบำบัดเพื่อสุขภาพ เทศบาลเมืองบ้านบึง เอาไว้ให้ทุกท่านชมกันก่อนครับ สำหรับบทความนี้ สวัสดีครับ




ศูนย์ธาราบำบัดเพื่อสุขภาพ เทศบาลเมืองบ้านบึง

อ้างอิงข้อมูล
        ประภาส   โพธิ์ทองสุนันท์. Water Specific Therapy Halliwick : Basic level (WSTH-B). เอกสารประกอบการอบรม. เชียงใหม่: คลินิกกายภาพบำบัดแม่ปิง,    24 ตุลาคม 2561.