วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ธาราบำบัด วิถีแห่งการฟื้นฟู


ธาราบำบัด วิถีแห่งการฟื้นฟู
(Hydrotherapy for Rehabilitation)

     การดูแลรักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกาย นับเป็นวิธีการที่ดี เนื่องจากเป็นวิธีการที่ประหยัด ให้ผลครอบคลุมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ทั้งยังให้ผลการรักษาที่ยั่งยืนกับบุคคลทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายจากอุบัติเหตุหรือพยาธิสภาพต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีข้อจำกัดในการออกกำลังกายบนบกค่อนข้างมาก และอาจส่งผลต่อการฟื้นฟูของร่างกายได้อย่างไม่เต็มที่ ทำให้ปัจจุบันรูปแบบการรักษาด้วยน้ำ หรือธาราบำบัด เข้ามามีบทบาทต่อการส่งเสริม ป้องกัน บำบัดรักษา และการฟื้นฟูสภาพร่างกายอย่างแพร่หลาย

     ธาราบำบัด เป็นการอาศัยคุณสมบัติของน้ำที่เกี่ยวข้องกับแรงลอยตัว (Bouyancy force) แรงดันอุทกสถิตหรือแรงกดดันของน้ำ (Hydrostatic pressure) รวมถึงพลศาสตร์ของของไหล (Hydrodynamics) ซึ่งคุณสมบัติดังกล่าวถูกนำมาประยุกต์ใช้ในด้านการบำบัดรักษา เช่น การอาศัยแรงลอยตัวของน้ำเพื่อช่วยเพิ่มองศาการเคลื่อนไหวของรยางค์และลดการกระแทกต่อข้อต่อร่างกาย การใช้แรงดันอุทกสถิตในการลดบวมและกระตุ้นระบบไหลเวียนน้ำเหลือง หรือการอาศัยลักษณะการไหลแบบวกวน (Turbulent flow) เพื่อฝึกการทรงตัว เป็นต้น

     นอกจากนี้ในเรื่องอุณหภูมิของน้ำยังส่งผลต่อการรักษา โดยอุณหภูมิของน้ำที่แตกต่างกัน จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของร่างกาย ซึ่งอุณหภูมิที่มีความเหมาะสมต่อการรักษา อยู่ที่ประมาณ 29-36.6 องศาเซลเซียส (ส่วนใหญ่มักควบคุมอุณหภูมิอยู่ที่ 31-33 องศาเซลเซียส) และอุณหภูมิไม่ควรเกิน 37 องศาเซลเซียส

     ผลทางสรีรวิทยาที่เกิดขึ้นจากการออกกำลังกายในน้ำ มีดังนี้
1. เพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อมากขึ้น 
2. เพิ่มอัตราการเกิดเมตาบอลิซึมของกล้ามเนื้อมากขึ้น
3. เพิ่มอัตราการหายใจ
4. ลดความดันโลหิตของร่างกาย

     วิธีการทางธาราบำบัด มีดังนี้
1. การแช่น้ำ การฉีดพ่นน้ำและนวดด้วยน้ำ เช่น การแช่น้ำแร่ การแช่น้ำวน การแช่น้ำ
    อุ่น-ร้อน การแช่น้ำถังสแตนเลส การแช่น้ำกระตุ้นไฟฟ้า เป็นต้น
2. การฝึกออกกำลังกายในแต่ละข้อต่อ
3. เทคนิคเฉพาะในการบำบัดทางกายภาพบำบัด เช่น เทคนิค Halliwick เทคนิค     
    Bad Ragaz ring เป็นต้น
4. การออกกำลังกายแบบแอโรบิค 

     ผลที่ได้รับทางการรักษาด้วยธาราบำบัด มีดังนี้
1. ลดความเจ็บปวดหรือบรรเทาความเจ็บปวด และลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ 
2. ผ่อนคลายความเครียดทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ
3. เพิ่มหรือคงสภาพช่วงมุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย
4. ช่วยฝึกฝนการหดตัวของกล้ามเนื้อที่อ่อนแรงหรืออัมพาต
5. เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เสริมสร้างกำลัง และความทนทาน
6. การฝึกในน้ำช่วยลดแรงกระทำต่อข้อต่อร่างกาย ทำให้ช่วยฝึกการก้าว การเดินใน
    น้ำได้ดีและง่ายขึ้น
7. เพิ่มการไหลเวียนของระบบเลือดและน้ำเหลือง
8. เสริมสร้างสภาพจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใส
9. เสริมสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง ในด้านการเคลื่อนไหวหรือการทำกิจกรรมต่างๆ

     ในปัจจุบันการให้บริการด้านธาราบำบัด เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น แต่ในทางกลับกันสถานที่ที่รองรับการให้บริการยังมีจำนวนค่อนข้างน้อย และส่วนมากอยู่ในการดูแลของสถานพยาบาลขนาดใหญ่ หรือสถานพยาบาลเฉพาะทาง ทำให้ส่งผลต่อการเข้าถึงการรับบริการ ดังนั้นการลงทุนในระดับท้องถิ่นจึงอาจเป็นแนวคิดที่ตอบโจทย์การเข้าถึงบริการด้านธาราบำบัดมากขึ้น 

การให้บริการด้านธาราบำบัดของโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชญาณสังวร เพื่อผู้สูงอายุ จังหวัดชลบุรี

     คุยกันท้ายบทความ
     หัวข้อนี้ผู้เขียนต้องการนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการรักษาด้วยธาราบำบัด ซึ่งอาจจะมีเนื้อหาที่ค่อนข้างเยอะ แต่อย่าเพิ่งเบื่อกันนะครับ 

     ส่วนหัวข้อถัดไปผู้เขียนจะขอนำเสนอรูปแบบการให้บริการด้านธาราบำบัดในระดับท้องถิ่นของศูนย์ธาราบำบัดเพื่อสุขภาพ กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองบ้านบึง อย่าลืมติดตามกันนะครับ ก่อนจากกันผู้เขียนขอแปะคลิปสถานที่ภายในของศูนย์ธาราบำบัดเพื่อสุขภาพ เทศบาลเมืองบ้านบึง เอาไว้ให้ทุกท่านชมกันก่อนครับ สำหรับบทความนี้ สวัสดีครับ




ศูนย์ธาราบำบัดเพื่อสุขภาพ เทศบาลเมืองบ้านบึง

อ้างอิงข้อมูล
        ประภาส   โพธิ์ทองสุนันท์. Water Specific Therapy Halliwick : Basic level (WSTH-B). เอกสารประกอบการอบรม. เชียงใหม่: คลินิกกายภาพบำบัดแม่ปิง,    24 ตุลาคม 2561.








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น